ปัญหาที่พบในการทำก้อนเชื้อ “เห็ดนางฟ้า”

ปัญหาที่พบในการทำก้อนเชื้อ “เห็ดนางฟ้า”

ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า
ปัจจุบันการเพาะเห็ดเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง แตกต่างจากในอดีตที่มีเพียงฟาร์มเห็ดใหญ่ๆเท่านั้น เหตุผลก็เพราะว่าอาชีพเพาะเห็ดไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากนัก อีกทั้งผลผลิตยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย สำหรับเกษตรที่ทำก้อนเชื้อเห็ดได้เอง ก็จะประหยัดเงินในการสั่งซื้อก่อนเชื้อเห็ดจากแหล่งอื่นได้ แต่หากเกษตรกรไม่สามารถทำก้อนเชื้อเห็ดได้เอง อาจจะสั่งซื้อก้อนเชื้อเห็ดจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ เพื่อนำมาเปิดดอกไว้รับประทานในครอบครัวหรือจำหน่ายก็ได้ และในวันนี้ก็มีอีกหนึ่งสาระดีๆมาฝากอีกเช่นเคย เป็นเทคนิคในการเลือกหรือสังเกตก้อนเชื้อเห็ดที่เราซื้อมา หรือผลิตเอง..ว่ามีคุณภาพหรือไม่? จะได้วิเคราะห์สาเหตุและทำการแก้ไขได้ถูกจุด..เพราะนั่นหมายถึงผลผลิตดอกเห็ดที่จะตามมา รวมทั้งผลกำไรที่จะตามมาด้วย มีหลักการสังเกตดังนี้ครับ

"ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า" ที่มีคุณภาพ ดอกเห็ดจะสมบูรณ์อย่างท่ีเห็น
ลักษณะก้อนเชื้อเห็ดที่ดี สังเกตได้ดังนี้

- เห็ดตระกูลนางรม เช่น เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฎาน เห็ดโคนญี่ปุ่นหรือเห็ดยานางิ เส้นใยที่มีคุณภาพพร้อมเปิดดอกจะเดินเต็มถุง และมีสีขาวนวล หากเส้นใยมีสีเหลือง แสดงว่าเส้นใยเห็ดเริ่มแก่แล้ว ไม่ควรนำมาเปิดดอก
- เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดขอนขาว และเห็ดลม เส้นใยที่มีคุณภาพพร้อมเปิดดอกจะเดินเต็มถุง และมีสปอร์เห็ดสีดำตกอยู่
- ก้อนเชื้อเห็ดที่ดีและมีคุณภาพ ต้องไม่มีรอยแตกร้าว หรือมีราเขียวหรือเชื้อราอื่นๆขึ้นอยู่ภายใน

แสดงถึงเส้นใยที่แก่เกินไป ไม่เหมาะที่จะนำมาเปิดดอก
ปัญหาที่พบบ่อยในการทำก้อนเชื้อเห็ด

1. เชื้อเห็ดไม่เจริญหรือไม่เดินในถุง อาจมีสาเหตุจาก หัวเชื้อที่นำมาทำไม่บริสุทธิ์ วัสดุที่ใช้ทำ (ขี้เลื่อย) มีก๊าซแอมโมเนียเหลืออยู่ ขี้เลื่อยหรือวัสดุที่ใช้ทำก้อนเชื้อมีความชื้นสูงเกินไป  หรืออากาศในโรงเรือนบ่มก้อนเชื้อเย็นเกินไป เป็นต้น

2. ก้อนเชื้อเห็ดมีเชื้อราอย่างอื่นปนเปื้อน อาจเกิดจากอุณหภูมิของหม้อนึ่งก้อนเชื้อต่ำเกินไป หมักปุ๋ยสำหรับทำก้อนเชื้อไม่ได้ที่ ถุงพลาสติกมีรอยรั่ว จุกสำลีเปียกหรือใช้สำลีเก่ามาทำ หรือหัวเชื้อไม่ที่ซื้อมาบริสุทธิ์ เป็นต้น

3. เส้นใยเห็ดเดินได้ครึ่งถุงแล้วหยุด หรือเดินเพียงบางๆ เนื่องจากขี้เลื่อยหมักไม่ได้ที่ ทำให้มีกลิ่นแอมโมเนียเหลืออยู่ และมีสารบางอย่างปะปนอยู่ในวัสดุหมัก เช่น น้ำยางจากขี้เลื่อยยางพารา ผงซักฟอกหรือน้ำมัน หรืออุณหภูมิในห้องบ่มเชื้อต่ำเกินไป ความชื้นในกองปุ๋ยหมักสำหรับทำก้อนเห็ดไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น

4. เส้นใยไม่เดินภายในก้อนเห็ด หรือเดินบางมากๆ แสดงว่าสารอาหารในกองปุ๋ยหมักสำหรับทำก้อนเชื้อเห็ดไม่เพียงพอ หรือมีจุลินทรีย์อื่นปนเปื้อน หรือขี้เลื่อยที่นำมาใช้ทำมีพิษต่อเห็ดเป็นต้น

5. เชื้อเห็ดเดินเต็มก้อนแต่ไม่สร้างดอกเห็ด แสดงว่าเชื้อเห็ดเป็นหมัน


6. ก้อนเห็ดที่เปิดดอกแล้วออกดอกช้า ผลผลิตต่ำ เกิดจากเชื้อเห็ดเสื่อมคุณภาพ อาหารและความชื้นไม่เพียงพอ เป็นต้น