มาตรฐานโรงเรือนเพาะเห็ด

โรงเรือนเพาะเห็ดที่ดีควรเป็นอย่างไร?

โรงเรือนเพาะเห็ด
ภาพจาก: www.wangnamkheo.com
โรงเรือนเพาะเห็ด  ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆในการเพาะเห็ดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเห็ดนางฟ้า นางรม เห็ดฟาง เห็ดหอม เห็ดโคนญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งเห็ดหูหนู เพราะถือว่าเป็นสถานที่ควบคุมความชื้น อุณหภูมิ และแสงแดด ที่จำลองจากธรรมชาติ เป็นสถานทีบ่มเพาะเส้นใจให้เจริญเติบโตเป็นดอกเห็ดที่มีคุณภาพ ซึ่งโดยมาตรฐานทั่วไปแล้วโรงเรือนเพาะเห็ดควรมีขนาด 4 x 6 เมตร (แล้วแต่ปริมาณการผลิต และพื้นที่สำหรับสร้าง) ส่วนระยะความสูงของโรงเรือน หากมุงด้วยใบลาน ใบจาก หรือตับคา จะอยู่ประมาณ 3 เมตร และไม่แนะนำให้มุงด้วยสังกะสีในโรงเรือนเพาะเห็ดทั่วไป ยกเว้นโรงเรือนเพาะเห็ดฟาง เพราะต้องการอุณหภูมิในการสร้างดอกเห็ดที่สูง ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด ให้เน้นใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเพื่อความประหยัดและเป็นการใช้วัสดุในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และที่สำคัญในการสร้างโรงเพาะเห็ด ให้ตรวจสอบทิศทางลมให้ดี แนะนำให้สร้างโรงเรือนเพาะเห็ดให้หันหน้าไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ เพราะจำทำให้อากาศถ่ายเทผ่านโรงเรือนได้ดี แถมยังสามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ง่าย ส่งผลทำให้เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตได้ดี เห็ดออกสม่ำเสมอ ดอกเห็ดสมบูรณ์ และที่สำคัญโรงเรือนเพาะเห็ดที่ก้อนเห็ดหมดรุ่นแล้ว ควรโรยพื้นที่ภายในด้วยปูนขาวหรือไดโลไมท์ให้ทั่ว เพื่อป้องกันแมลงและเชื้อโรค ที่อาจจะสร้างความเสียหายกับก้อนเห็ดที่นำมาเปิดดอกชุดใหม่ได้ และควรพักโรงเรือนไว้อย่างน้อยประมาณ 5-10 วัน ก่อนที่จะนำก้อนเห็ดรุ่นใหม่เข้าไปเปิดดอก สำหรับส่วนตัวผมแล้วจะปลูกตะไคร้หอมไว้รอบโรงเรือน ซึ่งก็สามารถป้องกันแมลงได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวครับ

ภาพจาก: www.wangnamkheo.com
โรงเรือนเพาะเห็ดมีกี่อย่าง?


โดยทั่วไปแล้วโรงเรือนเพาะเห็ดจะมีอยู่ 2 อย่าง คือ โรงบ่มก้อนเห็ดกับโรงเรือนสำหรับเพาะเห็ด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โรงเรือนเปิดดอกเห็ด” มีสองลักษณะคือ โรงเรือนบ่มก้อนและโรงเรือนเพาะเห็ดรวมอยู่ที่เดียวกัน กล่าวคือ กรณีแรกสำหรับโรงเรือนเพราะเห็ดที่สร้างแบบมาตรฐานทั่วไป เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆจะใช้เป็นโรงบ่มก้อนเห็ดก่อน เพื่อให้เส้นใยเห็ดเจริญในถุงเพาะระยะหนึ่ง และเมื่อเส้นใยเจริญเต็มก้อนเชื้อเห็ดแล้ว ก็จะเปลี่ยนจากโรงบ่มก้อนทำเป็นโรงเพาะเห็ดต่อ โดยการปรับปรุงพื้นที่ปรับเปลี่ยนแนวแสงเล็กน้อย ซึ่งไม่ต้องแก้ไขอะไรมากมาย ส่วนกรณีที่สองก็คือ ผู้เพาะเห็ดบางรายอาจจะทำโรงเรือนบ่มก้อนเห็ดและโรงเรือนเพาะเห็ดแยกกันไว้ต่างหาก ซึ่งก็เป็นสิงที่ดี เพราะการใช้โรงบ่มก้อนเป็นโรงเพาะเห็ด จะทำให้มีเชื้อโรคที่สะสมจากก้อนเห็ดเดิมได้ และเพื่อเป็นป้องกันเชื้อโรคดังกล่าว โรงบ่มก้อนเห็ดจึงไม่ควรผ่านการทำเป็นโรงเห็ดมาก่อน สำหรับโรงบ่มก้อนเห็ดและโรงเพาะเห็ดที่ดีควรเป็นโรงเรือนที่สะอาด เพราะฉะนั้นโรงเรือนที่เคยผ่านการใช้เป็นโรงเพาะเห็ดมาแล้ว ไม่ควรทำเป็นโรงบ่มก้อนเด็ดขาด อีกอย่างพื้นที่ที่เคยสร้างเป็นโรงเพาะเห็ด ควรมีการพักโรงเรือนหรือพักพื้นที่สักระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรค หรือแมลงศัตรูเห็ด และควรทำการหว่านปูนขาวหรือไดโลไมท์เป็นระยะๆด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อผลผลิตเห็ดที่มีคุณภาพ ปราศจากแมลงหรือเชื้อรารบกวนนั่นเองครับ