หญ้า 3 ชนิด ที่นำมาเพาะเห็ดได้

การเพาะเห็ด
 
หญ้า 3 ชนิด ที่นำมาเพาะเห็ดได้

ปัจจุบัน ชุมชนท้องถิ่นบางแห่งในเขตภาคเหนือ  โดยเฉพาะเขตภูเขา และชุมชนตามแนวชายแดน มักมีการประกอบอาชีพไม่เป็นหลักแหล่ง และมีการทำเกษตรกรรมที่ไม่ยั่งยืน เช่น การทำไร่เลื่อนลอย การปลูกพืชเสพติด หรือแม้กระทั่งการตัดไม้ทำลายป่า ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม  การไม่ได้รับการศึกษาและการขาดการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นสาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าว  การสร้างอาชีพโดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดความสอดคล้องกับชุมชนนับเป็นทางเลือกที่นักวิชาการ นักวิจัย ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ต้องให้ความสนใจ  ไบโอเทคได้เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาแบบยั่งยืนในพื้นที่สูงและด้านนิเวศวิทยาของชุมชน ด้วยการพัฒนาอาชีพชุมชนในชนบทและการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงได้สนับสนุนทุนโครงการวิจัย “ศึกษาการใช้วัชพืชในเขตพื้นที่ไร่เลื่อนลอยเพื่อเป็นวัสดุเพาะเห็ดชนิดต่างๆ”  โดยมีนางสาวนันทินี  ศรีจุมปา  นักวิชาการเกษตร  จากศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นหัวหน้าโครงการ โครงการวิจัยนี้ ได้ใช้โจทย์ของการส่งเสริมการประกอบอาชีพเพาะเห็ดในชุมชนหมู่บ้านปางสา อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงใหม่ นำไปสู่อาชีพที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของการใช้วัสดุในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ โดยหวังผลสำเร็จของโครงการให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นที่มีลักษณะภูมิประเทศและเงื่อนไขใกล้เคียงกัน

ในขั้นต้นผู้วิจัยได้ศึกษาวัชพืชในท้องถิ่น และคัดเลือกวัชพืชที่เหมาะสมมาทดลองเพาะเห็ดแทนขี้เลื่อยไม้ยางพาราซึ่งเป็นวัสดุหลักในการทำก้อนเชื้อเพาะเห็ดที่มีแนวโน้มของราคาสูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนด้านการขนส่ง ในขณะเดียวกันผู้วิจัยได้ประดิษฐ์เครื่องต้นแบบในการบดย่อยวัชพืชที่ได้ เนื่องจากลำต้นของวัชพืชมีลักษณะแข็ง ยากต่อการตัด หรือสับ ต่อมาจึงนำวัชพืชที่คัดเลือกแล้วมาบดย่อยโดยเครื่องต้นแบบที่พัฒนาได้ และนำวัชพืชมาผสมกันในอัตราส่วนต่างๆ และนำมาหมัก หลังจากนั้นจึงทดลองเพาะเลี้ยงเห็ดตระกูลนางรมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เหมาะสม

จากการวิจัย  สามารถนำวัชพืชในท้องถิ่นจำนวน 3 ชนิด คือ หญ้าแขม หญ้าเลา และหญ้าก๋ง มาใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดตระกูลนางรม คือ เห็ดนางรมฮังการี  และเห็ดนางฟ้าภูฏาน และพบว่าผลผลิตเห็ดที่ได้สูงกว่าการใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ซึ่งแสดงว่าวัชพืชดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดทดแทนขี้เลื่อยได้ นอกจากนี้ เมื่อนำเห็ดทั้งสองชนิดที่เพาะจากวัชพืชมาวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนพบว่ามีปริมาณมากกว่าเห็ดที่เพาะจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา โครงการนี้ไม่เฉพาะเพียงทีมผู้วิจัยเท่านั้นที่ดำเนินงานวิจัย ประชากรในชุมชนยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจและเลือกชนิดของวัชพืช ตลอดจนการทดลองเพาะเห็ด นับเป็นโครงการวิจัยหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนในด้านบวก  ในอนาคตเมื่อมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง ชุมชนจะสามารถประกอบอาชีพที่ยั่งยืนทดแทนการทำไร่เลื่อนลอย เท่ากับว่าเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง

ที่มา:ศูนย์ไบโอเทค