การตรวจสอบค่ากรด – ด่าง (PH) ในวัสดุเพาะเห็ด

ค่า PH ที่เห็ดต้องการ

การเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด เพื่อเข้าสู่การรวมตัวและเจริญเติบโตเป็นดอกเห็ด ก็มีอยู่หลายองค์ประกอบและหลายปัจจัย และอีกหนึ่งปัจจัยในการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดที่ดีก็คือการจำกัด ค่า PH ในวัสดุที่เรานำมาเพาะหรือวัสดุที่เรานำมาทำเป็นก้อนเห็ดนั่นเอง ในการการตรวจสอบค่ากรด ด่าง ในวัสดุเพาะเห็ด ให้เรานำวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดมาจำนวน 1 กิโลกรัม + น้ำตาล 3 กิโลกรัม ผสมเข้าด้วยกันทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง แล้วใช้กระดาษริสมัสมาจุ่มในน้ำดังกล่าว นำไปเทียบค่าแถบสี อ่านค่า PH ตามสีที่เราเห็น ก็จะรู้ว่าวัสดุที่เราใช้เพาะเห็ดเป็นกรดหรือด่างนั่นเองครับ

ค่า PH คืออะไร?

ค่า PH คือหน่วยวัดค่าความเป็นกรดด่าง โดยมีค่าเป็นตัวเลข 14 ตัว ซึ่งกำหนดค่าไว้ดังนี้

- ค่าตัวเลขจาก 1 – 6 จะมีค่าเป็นกรดแก่ไปจนถึงกรดอ่อนๆ เช่นน้ำที่มีค่าเป็น 1 คือความเป็นกรดในน้ำที่เรานำมาวัดค่า จะมีความเป็นกรดสูงมาก ส่วนค่า 6 จะมีค่าความเป็นกรดต่ำสุด หรือเกือบจะเป็นค่ากลางๆ


- ค่าตัวเลขจาก 8 – 14 จะเป็นค่าของด่าง เช่น 8 จะมีค่าความเป็นด่างน้อยสุด หรือเกือบจะเป็นค่ากลางๆ ถ้าเป็นเลข 14 จะมีค่าความเป็นด่างมากที่สุด เพราะฉะนั้นแล้วตัวเลขที่เหลือก็คือเลข 7 จะมีค่าความเป็นกลางนั่นเองครับ ก็คือจะอยู่ระหว่างค่ากลางๆ (ไม่เป็นทั้งกรดและด่าง) ซึ่งตามปกติทั่วไปแล้วน้ำในธรรมชาติจะมีค่าความเป็นกรดเล็กน้อยคือจะมีค่า PH อยู่ประมาณ 6 - 6.5 และค่าที่ว่านี้เองถือว่าเป็นค่าที่เหมาะสมในการเจริญของเส้นใยเห็ดทุกชนิดนั่นเองครับ

เทคนิคเด็ด! “เพาะเห็ดนางฟ้าในโอ่ง” เพียง 3 วันเก็บกินได้เลย..

“เพาะเห็ดนางฟ้าในโอ่ง” เพียง 3 วันเก็บกินได้เลย..

                                       เพาะเห็ดนางฟ้าในโอ่ง
เพาะเห็ดนางฟ้าในโอ่ง
ในการ เพาะเห็ดนางฟ้า ของเกษตรกรหลายๆคน ก็มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ทำเป็นโรงเรือนเพาะเห็ดขนาดใหญ่ เพาะขายกันในเชิงธุรกิจ หรือไม่ก็ทำเป็นธุรกิจครอบครัวแบบพอเพียง แต่โดยส่วนตัวผมแล้วไม่ค่อยมีเวลามากนัก ขอทำโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าแบบมินิไปก่อน ซึ่งผมขอใช้สโลแกนว่า “เพาะเห็ดนางฟ้าในโอ่ง 3 วันเก็บกินได้” ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆครับ



คือเมื่อสามวันก่อนผมได้ไปซื้อก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า (ที่ใส่เชื้อเห็ดไว้แล้ว) ประมาณ 20 ก้อนในราคา ก้อนละ 5 บาท จากคนที่รู้จักกันในตัวอำเภอใกล้บ้าน จากนั้นก็นำมาเก็บไว้ในที่ไม่ให้โดนแสงแดดเพื่อให้เส้นใยเจริญเต็มก้อนเห็ดเสียก่อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน ตอนแรกก็คิดจะทำเป็นโรงเรือนเล็กๆสำหรับเป็นโรงเรือนเปิดดอกเห็ด หรือที่เรารู้จักคือ “โรงเรือนเพาะเห็ด” นั่นเอง แต่มาคิดๆดูแล้ว ก้อนเห็ดนางฟ้าที่เราซื้อมามันก็มีไม่กี่ก้อนเอง เหลือบไปเห็นโอ่งเก่าอยู่ใบหนึ่ง ก็เลยนำมาจำลองเป็นโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าแบบมินิซะเลย! ก็คือนำมาวางตะแคงไว้ในที่ร่ม (ดังภาพ) จากนั้นก็นำทรายมาใส่ด้านใน (ประมาณ ¼ ส่วน) เพื่อเก็บรักษาความชื้นภายในโอ่ง วางไม้กระดานสำหรับรองก้อนเห็ด เพื่อไม่ให้ก้อนเห็ดสัมผัสกับพื้นทราย และเพื่อป้องกันน้ำเข้าก้อนเห็ด ที่นี้ก็นำก้อนเห็ดที่พร้อมเปิดดอก (เส้นใยเจริญเต็มก้อนแล้ว) มาวางเรียงในโอ่งเพาะเห็ดแบบมินิได้เลย ส่วนด้านบนก็คลุมด้วยผ้าห่มที่เป็นผ้าฝ้ายเก่าเพื่อรักษาความชื้นและอุณหภูมิภายในโอ่งเพาะเห็ดอีกที ก็เป็นอันเรียบร้อยครับ

เพาะเห็ดนางฟ้าในโอ่ง
สำหรับการดูแลโรงเรือนเพาะเห็ดแบบมินิของผมก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่รดน้ำในช่วงที่ฝนไม่ตกวันละครั้งก็พอ คือรดน้ำใส่พื้นทรายภายในโอ่งที่เพาะเห็ด แต่ระวังอย่าให้น้ำกระเด็นเข้าหน้าก้อนเห็ดนะครับ เพราะจะทำให้ก้อนเห็ดนางฟ้าเกิดราดำได้ และรดน้ำใส่ผ้าห่มที่คลุมไว้ให้ชุ่ม จากนั้นก็อดใจรออีกประมาณสามวันเป็นอย่างช้า ก็จะมีดอกเห็ดโผล่ออกมาให้เห็นอย่างในโรงเรือนเพาะเห็ดแบบมินิของผมนี่งัยล่ะครับ


2 ปัจจัยหลักในการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด


เพาะเห็ดนางฟ้า
สองปัจจัยหลักในการเจริญของเส้นใยเห็ดที่เราต้องรู้ โดยเฉพาะเกษตรผู้เพาะเห็ดในเชิงการค้า นั่นคืออาชีพที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวของเรา เพราะฉะนั้นแล้วเราต้องศึกษาให้รู้จริงๆ ก่อนลงมือปฏิบัติ ซึ่งสาระดีๆในการเพาะเห็ดนางฟ้าที่ผมนำมาฝากในวันนี้ ถือว่าเป็นความรู้เบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับผู้เพาะเห็ดเลยก็ว่าได้ครับ ซึ่งปัจจัยหลักๆนอกจากก้อนเชื้อเห็ดที่สมบูรณ์ได้มาตรฐาน และการควบคุมความชื้นในโรงเรือนเพาะเห็ดให้สม่ำเสมอแล้ว สิ่งสำคัญที่เราต้องหมั่นตรวจสอบก็คือ
 
เพาะเห็ดนางฟ้า
- การถ่ายเทอากาศในโรงเรือนเพาะเห็ด
เพราะเห็ดเป็นเชื้อราที่มีความต้องการออกซิเจนในการเจริญของเส้นใย โดยเฉพาะระยะออกดอก ซึ่งต้องการออกซิเจนมากกว่าระยะที่เส้นใยกำลังเดินในถุงเพาะ สำหรับคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ก็จะช่วยทำให้เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตได้ดี แต่ในระยะออกของเห็ดนั้น ถ้าเราปล่อยให้โรงเรือนทึบเกินไป ไม่เปิดประตูถ่ายเทอากาศ ก็จะส่งผลทำให้ดอกเห็ดไม่บาน ไม่สมบูรณ์ ดอกเล็ก ก้านยาวผิดปกติ ผลผลิตที่ได้ก็ลดน้อยลงนั่นเองครับ

- แสงในโรงเรือนเพาะเห็ด
ส่วนสภาพของแสงในโรงเรือนเพาะเห็ดก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดโดยตรง ถ้าแสงในโรงเรือนมีปริมาณที่พอเหมาะคือมีแสงจางๆเป็นบางช่วงเวลา เส้นใยของเห็ดก็จะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในระยะออกดอกแสงจะช่วยกระตุ้นตุ่มดอกเห็ด และช่วยในการเจริญเติบโตของดอกเห็ด ซึ่งจะทำให้สีสันของดอกเห็ดเปลี่ยนแปลงไปตามสายพันธุ์ของเห็ดที่เพาะเอาไว้ ดังนี้ครับ

เห็ดนางรม นางฟ้า นางฟ้าภูฐาน : แสงจะช่วยให้การปล่อยสปอร์ดีขึ้น โดยเฉพาะแสงแดดตอนสายๆ

เห็ดหูหนู : แสงจะช่วยให้สีเข้มขึ้น หากแสงน้อยดอกเห็ดจะซีด

เห็ดฟาง : แสงจะทำให้ดอกเป็นสีคล้ำ หากแสงน้อยดอกเห็ดจะมีสีขาวน่ารับประทาน

อาหารเสริมชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟาง


เพาะเห็ดฟาง
อาหารเสริมที่นิยมนำมาเพาะ “เห็ดฟาง”  ในรูปแบบต่างๆนั้น นอกจากฟางข้าวซึ่งเป็นวัสดุหลักแล้ว เรายังสามารถใช้เปลือกถั่วเขียว ชานอ้อย กากมันสำปะหลัง และก้อนเห็ดเก่าที่ผ่านการเพาะเห็ดถุงมาแล้วได้อีกด้วย แต่เราต้องนำมาแช่น้ำก่อนเพาะเห็ดฟาง 1 คืน จึงจะพร้อมที่จะนำไปใช้เป็นอาหารเสริมในการเพาะเห็ดฟางได้ ส่วนก้อนเห็ดเก่า หากเราจะนำเป็นเป็นส่วนผสมในการเพาะเห็ดฟาง นั้น แนะนำให้เลือกเฉพาะก้อนที่ไม่มีเชื้อรา ไม่มีไข่แมลงหรือตัวแมลงต่างๆที่เป็นศัตรูเห็ด จากนั้นให้นำเอาถุงพลาสติกออกแล้วนำมาทุบให้แตกเพียงเล็กน้อยก็พอ ไม่ต้องทุบให้แตกละเอียดมากเพราะจะทำให้เส้นใจเห็ดไม่ค่อยเดิน ส่วนอาหารเสริมจำพวกผักตบชวาสดนั้น เราสามารถใช้ผักตบชวาสดได้ทุกส่วนตั้งแต่ราก ลำต้น ก้านและใบต่างๆ แต่เราต้องตัดรากและใบที่เน่าเสียออกไป แล้วล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นให้นำมาหั่นยาวประมาณครึ่งเซนติเมตร หรือถ้าเราจะใช้ไส้นุ่นเป็นอาหารเสริม ในการเพาะ เห็ดฟาง ก็ต้องแช่ไส้นุ่นในน้ำพอชุ่มประมาณ 10-15 นาที แต่ก็มีข้อเสียคือ เมล็ดที่ค้างอยู่ในฝักจะงอกเป็นต้นอ่อนออกมา และอีกหนึ่งอาหารเสริมที่นิยมใช้ในการเพาะเห็ดฟางก็คือแป้งข้าวสาลี หรือแป้งข้าวเหนียวสามารถนำมาเป็นอาหารเสริมในการเพาะเห็ดฟางได้เหมือนกัน แต่ไม่เหมาะกับการเพาะเห็ดฟางที่ใช้ซังข้าวโพดเป็นวัสดุเพาะ เพราะถ้าเราใช้มากเกินไปอาจมีเชื้อราเกิดขึ้นบนอาหารเสริมชนิดนี้ได้ หากจะนำมาใช้ก็ใส่เพียงเล็กน้อยก็พอ โดยคลุกกับเชื้อเห็ดฟางโดยไม่ต้องผสมน้ำก่อน และเมื่อคลุกผสมกันแล้วต้องรีบนำไปใช้ทันทีนะครับ

ลักษณะของโรงเรือนบ่มเส้นใยเห็ดที่ดี



โรงเรือนบ่มเส้นใยเห็ด
 
http://banhednangfa.blogspot.com
ในการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเห็ดนางฟ้า นอกจากคุณภาพของก้อนเชื้อเห็ดแล้ว โรงเรือนต่างๆก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เราต้องเอาใจใส่อย่างมากครับ โดยเฉพาะโรงเรือนสำหรับบ่มเส้นใยเห็ด ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับเส้นใยเห็ดที่มีคุณภาพ อันดับแรกๆที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ ความสะอาดของโรงเรือน อุณหภูมิภายในโรงเรือนต้องสม่ำเสมอ (แนะนำให้เป็นโรงเรือนแบบใช้อิฐก่อหรือโรงเรือนปูน) และที่สำคัญต้องเป็นห้องที่มีแสงสว่างน้อย เพื่อให้เส้นใยเจริญเต็มถุงเพาะและพร้อมเปิดดอก อุณหภูมิภายในโรงเรือนบ่มเส้นใยควรจะอยู่ที่ 25-30 องศาเซลเซียส ก็จะทำให้เชื้อเห็ดเจริญได้เต็มก้อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ดด้วย ดังตารางข้อมูลด้านล่างที่ผมนำมาฝากในวันนี้ครับ
ระยะเวลาในการบ่มเส้นใยของก้อนเห็ดแต่ละชนิด

เห็ดหอม               ใช้เวลาในการบ่มเส้นใย         4-5 เดือน
เห็ดลมป่า              ใช้เวลาในการบ่มเส้นใย        4-5 เดือน
เห็ดขอนขาว           ใช้เวลาในการบ่มเส้นใย        28-30 วัน
เห็ดหูหนู เห็ดเป๋าฮื้อ ใช้เวลาในการบ่มเส้นใย        1.5-2 เดือน
เห็ดหลินจือและเห็ดหัวลิง ใช้เวลาในการบ่มเส้นใย 1.5-2 เดือน
เห็ดนางฟ้า นางรม     ใช้เวลาในการบ่มเส้นใย      1-1.5 เดือน

**ระยะเวลาในการบ่มเส้นใยของเห็ด ก็จะขึ้นอยู่กับสารอาหารที่อยู่ในก้อนเห็ด ชนิดของเห็ด และสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่างด้วยนะครับ**

เห็ดนางฟ้า



3 ปัญหาหลักในการเพาะเห็ดนางฟ้า

ในการเพาะเห็ดนางฟ้า ผมเชื่อว่าเกษตรกรหลายๆคนคงเคยเจอปัญหาแบบเดียวกันกับผม ซึ่งถือว่าได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตเลยก็ว่าได้ เรามาลองวิเคราะห์สาเหตุ และแก้ไขไปพร้อมๆกันเลยครับ

1. หน้าก้อนเห็ดเหลืองและเน่า
สาเหตุหลักๆมักเกิดจากก้อนเห็ดมีความชื้นหรือมีน้ำเข้าไปขังในก้อน แนะนำให้ใช้ปลายคัตเตอร์กรีดบริเวณที่มีน้ำเข้า แล้วใช้กระบอกเข็มฉีดยาดูดเอาน้ำที่ขังหรือเป็นละอองออก เท่าที่ทำได้ หากก้อนเห็ดอยู่ชั้นล่าง ก็ให้ย้ายขึ้นมาวางไว้บนหรือวางแยกไว้ต่างหาก ก็จะพอแก้ปัญหาได้ครับ

2. ดอกเห็ดเน่าและเหลือง
เกิดจากสภาพความชื้นในโรงเรือนมีมากเกินไป แนะนำให้ลดปริมาณการรดน้ำในโรงเรือนลง หากเห็นว่าดอกเห็ดเริ่มบาน ควรให้น้ำเพียงน้อยๆ แต่บ่อยๆครั้งก็พอ และในเวลากลางคืนควรเปิดประตูโรงเรือนเพื่อให้อากาศถ่ายเทออกบ้าง ก็จะแก้ปัญหานี้ได้ครับ

3. ดอกเห็ดเหี่ยวแห้งและเหลือง
ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากสภาพโรงเรือนเพาะเห็ดขาดความชื้น แก้ไขโดยการหมั่นรดน้ำภายในบริเวณโรงเรือน เพื่อเพิ่มความชื้นเข้าไป แต่ต้องระวังอย่าให้ลมโกรกโรงเรือนมากเกินไปเพราะจะพัดพาความชื้นไปหมด ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ การแคะดอกเห็ดจนทำให้หน้าก้อนแตกเป็นรอย จนเป็นเหตุให้เส้นใยประสานกันช้า เพราะฉะนั้นแล้วในขั้นตอนการเก็บดอกเห็ดเราต้องระวังอย่าให้หน้าก้อนแตก หรือเป็นรอยมากเกินไปครับ