สาระพันปัญหาในการเพาะเห็ด

เส้นใยเห็ดหยุดชะงัก..เกิดจากอะไร?

ผมเชื่อว่าเกษตรกรผู้เพาะเห็ดหลายคนคงเคยเจอกับปัญหา ต่างๆเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่สั่งซื้อก้อนเชื้อเห็ดจากแห่งที่ไม่ได้คุณภาพมาเปิดดอกเอง หรือผู้ที่สามารถผลิตก้อนเชื้อเห็ดได้เอง ก็อาจจะเคยพบเจอบ้าง ปัญหาหลักๆในการเพาะเห็ดที่ผมเคยเจอ จะมีอยู่สามอย่างดังนี้ครับ
"เห็ดนางฟ้า"
- เส้นใยเห็ดเดินในก้อนเชื้อระยะหนึ่ง แล้วหยุดไปเฉยๆ
ทำให้เส้นใยเดินได้ไม่เต็มถุงก้อนเชื้อ สาเหตุหลักเกิดจากความชื้นภายในก้อนที่มากเกินไปครับ แนะนำให้เกษตรกรผู้เพาะเห็ดคัดแยกก้อนเชื้อที่มีปัญหาดังกล่าวไปเทรวมกัน แล้วผสมธาตุอาหารและวัสดุเพาะใหม่ จากนั้นให้นำกลับไปนึ่งใหม่ หรือหากมีจำนวนก้อนเชื้อที่เกิดปัญหาไม่มาก ให้ใช้คัตเตอร์คมๆกรีดข้างถุงบริเวณที่มีความชื้นหรือละอองน้ำ แล้วใช้กระบอกเข็มฉีดยาดูดเอาละอองน้ำออก จากนั้นให้แตะปูนขาวด้วยหางช้อนนำใส่ในก้อนดังกล่าวพอทั่วบริเวณ เพราะปูนขาวหรือไดโลไมท์จะช่วยดูดความชื้นออกจากก้อนเห็ดได้ แถมยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อเส้นใยเห็ดอีกด้วย

- หลังจากเปิดดอกแล้ว ดอกเห็ดอกช้าผิดปกติ
สำหรับปัญหานี้ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากธาตุอาหารเห็ดในวัสดุผสมทำก้อนเชื้อน้อยเกินไป หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะว่าระยะเวลาในการบ่มเส้นใยไม่เพียงพอ เชื้อเห็ดยังไม่เจริญทั่วก้อนแล้วรีบเปิดดอกก่อน หรืออาจเป็นเพราะว่าก้อนเห็ดดังกล่าวใส่หัวเชื้อน้อยเกินไปครับ ซึ่งตามปกติแล้ว ก้อนเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพ หลังจากเปิดดอกประมาณ 7-10 วัน เราก็จะได้เก็บดอกเห็ดแล้ว แต่หากเกินกว่านี้แนะนำให้ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นดอกเห็ดฉีดพ่น 1-2 ครั้งห่างกันประมาณ 3 วัน แล้วคอยสังเกตดูการเจริญของเส้นใย และหากพบว่าเส้นใยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น นั่นแสดงว่าก้อนเห็ดที่เราซื้อมาดังกล่าวใส่เชื้อเห็ดที่เจริญบนเม็ดข้าวฟ่างน้อยเกินไปนั่นเองครับ

- เส้นใยเห็ดพัฒนาเป็นแค่ตุ่มดอกเล็กๆ ก็เหี่ยวแห้งไป

กรณีแบบนี้ให้สันนิษฐานได้เลยครับว่า อุณหภูมิหรือความชื้นไม่เพียงพอ ขอแนะนำให้ติดเครื่องวัดอุณหภูมิความชื้น เพื่อจะได้แก้ไขได้ทัน แต่การแก้ไขในเบื้องต้นฉีดพ่นด้วยละอองน้ำ แต่อย่าให้เข้าก้อนเห็ดที่เปิดดอกแล้ว เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ หรือไม่ก็ให้ใช้สายยางรดลงบนพื้นโรงเรือนให้แฉะไปเลย จะช่วยเพิ่มความชื้นภายในโรงเรือนได้ แต่โดยส่วนตัวผมจะใช้ปั๊มน้ำตู้ปลาขนาดเล็ก (250 บาท) สูบน้ำจากถังรองให้ไหลผ่านท่อ PVC ที่เจาะรูเล็กๆ เรียงกันตามความยาวของท่อ แล้วทำกระบะรองน้ำไว้ชั้นล่าง (โยงด้วยลวดสองข้าง) ให้น้ำไหลลงถังตามเดิม ซึ่งปั๊มก็จะดูดน้ำจากถัง ส่งไปให้ไหลตามท่อบนและหยดลงตามรูที่เจาะเป็นแถวเรียงคล้ายน้ำตก และน้ำก็จะหยดใส่กระบะที่รองรับชั้นล่าง กลับลงถังตามเดิม หมุนเวียนกลับไปมา ทำให้ช่วยปรับความชื้นภายในโรงเรือนได้อีกทางหนึ่งครับ (ต้องขออภัยที่ไม่มีภาพให้ดู)  ** สำหรับอุปกรณ์วัดความชื้น ชุดหนึ่งก็ตกอยู่ประมาณ 700 บาทครับ **

เพาะเห็ดนางรมในขอนไม้

วิธีเพาะ “เห็ดนางรม” ในขอนไม้

"เห็ดนางรม" ที่เกิดในบอนไม้
“เห็ดนางรม” จัดว่าเป็นเห็ดที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับ “เห็ดนางฟ้า” แต่จะมีลักษณะที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะที่คล้ายๆกัน ซึ่งเห็ดนางรมที่ว่านี้ เป็นเห็ดที่มีเส้นใยที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ยางพารา ไม้มะม่วง หรือไม้แค เป็นต้น และดอกเห็ดที่เกิดบนท่อนไม้นี้ จะเจริญเติบโตและอยู่ได้นานถึง 5-7 วัน โดยไม่เน่าเสีย และผลผลิตที่ได้ก็มีคุณภาพ ไม่แพ้เห็ดที่เพาะจากการเปิดดอกในถุงก้อนเชื้อเห็ด ส่วนวิธีการเพาะเห็ดนางรมในท่อนไม้ ที่นำมากฝากกันในวันนี้ หากเกษตรกรท่านใดมีความสนใจ..ก็จัดเตรียมอุปกรณ์ได้เลยครับ

"เห็ดนางรม"
เริ่มต้นเพาะ “เห็ดนางรม” ในขอนไม้ : อันดับแรก ให้เราเลือกไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ยางพารา ไม้มะม่วง หรือไม้แค ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 นิ้ว ตัดให้ยาวประมาณ 1 เมตร แต่หากเป็นไม้ยางพาราให้ตัดเป็นท่อนทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน เพื่อให้ยางที่เปลือกแห้งสนิทก่อน จากนั้นให้ใช้ค้อนหรือสว่านเจาะรูบนท่อนไม้ที่เตรียมไว้แบบสลับฟันปลา ห่างกันประมาณ 4-5 นิ้ว และเจาะให้ลึกประมาณ 2 นิ้ว ต่อจากนั้นให้เรานำหัวเชื้อของเห็ดนางรม (แบบขวด) ที่ซื้อมาใส่ลงไปในรู พร้อมกับปิดปากรูด้วยจุกพลาสติก หรือเปลือกหุ้มเนื้อไม้ที่เจาะออกมาเคลือบด้วยขี้ผึ้ง จากนั้นให้นำท่อนไม้ไปบ่มไว้ในที่ร่ม เพื่อให้เส้นใยเห็ดนางรมได้เจริญในท่อนไม้ก่อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แล้วค่อยนำไปเปิดดอกภายในโรงเรือนเปิดดอกต่อไป ส่วนการเปิดดอกก็ปกติทั่วไปครับ เพียงแค่เรานำท่อนไม้ที่เราใส่เชื้อเห็ดลงไปแล้ว ไปวางไว้ในที่ร่มหรือคลุมด้วยสะแลนกรองแสง หรือจะนำไปวางไว้ในโรงเรือนที่เตรียมไว้ก็ได้ แต่ขอแนะนำว่าต้องอยู่ในที่ร่มเท่านั้นครับ จากนั้นก็แกะจุกพลาสติกออก หากอุณหภูมิและความชื้นได้ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ก็จะเห็นดอก “เห็ดนางรม” โผล่ออกมาจากเนื้อไม้ ให้เราได้ ต้มยำ หรือทำแกงแล้วล่ะครับ

การใช้ตะไคร้หอมกำจัดแมลงในโรงเรือนเพาะเห็ด

ตะไคร้หอมกำจัดแมลงในโรงเรือนเพาะเห็ดได้


ในการเพาะเห็ดชนิดต่างๆในเชิงธุรกิจ การสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นสถานที่บังแดดบังฝนให้ก้อนเชื้อเห็ดที่เรานำมาเปิดดอก แต่โรงเรือนเพาะเห็ดที่ว่านี้ ก็เป็นจุดรวมของแมลงต่างๆที่จะเข้ากัดกินดอกเห็ดโดยเฉพาะแมลงหวี่และแมลงวัน ทำความเสียหายต่อผลผลิต สำหรับเกษตรกรบางรายอาจจะใช้วิธีพ่นยาหรือพ่นสารไล่แมลงต่างๆ ซึ่งก็เป็นวิธีที่ไม่อยากจะแนะนำครับ เพราะนอกจากจะส่งผลเสียต่อวงจรชีวิตของเส้นใยเห็ดแล้ว ยังทำให้บรรยากาศบริเวณโดยรอบโรงเรือนเต็มไปด้วยสารพิษ เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ แนะนำให้ปลูกตะไคร้หอมไว้รอบบริเวณโรงเรือนจะดีกว่า หรือไม่ก็มีอีกวิธีที่จะแนะนำคือ อันดับแรกให้เรานำตะไคร้หอมมาทุบหรือตำพอแตก แล้วนำไปแขวนไว้ภายในโรงเรือนเพาะเห็ด ด้วยระยะห่างประมาณ 2 เมตรตามจุดต่างๆทั่วบริเวณ ประมาณไม่เกิน 2-3 วัน แมลงต่างๆ เช่น แมลงวัน แมลงหวี่ แมลงโรม หรือแม้กระทั่งยุงก็จะบินหายไปหมด เพราะในตะไคร้หอมจะมีสารบางชนิดที่มีกลิ่นแรง ซึ่งเป็นที่ไม่ประสงค์ของแมลงต่างๆ ทำให้แมลงเหล่านั้นต้องบินหนีไปในที่สุด หรือบางตัวอาจตายเพราะทนกลิ่นไม่ไหว ซึ่งวิธีการที่ว่านี้เป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ในเมื่อไม่มีแมลงมาทำลายหรือกัดกินดอกเห็ด ผลผลิตเห็ดก็จะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สุดท้ายก็จะตามมาด้วยผลกำไร นั่นเองครับ

การใช้ปูนขาวลดความชื้นในก้อนเห็ด

ปูนขาวช่วยลดความชื้นในก้อนเชื้อเห็ดได้

สิ่งสำคัญในการผลิตเห็ดชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเห็ดนางฟ้า นางรม เห็ดขอนขาวและเห็ดหูหนู หรือแม้กระทั่งเห็ดฟาง ก้อนเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพถือว่าเป็นปัจจัยหลักในการควบคุมผลผลิตดอกเห็ดที่ได้ ซึ่งก้อนเชื้อที่เรานำมาเปิดดอกนั้น จะต้องไม่มีความชื้นเหลืออยู่ เพราะหากมีจะทำให้เกิดเชื้อราที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดเสียหายไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร โดยก่อนที่เราจะทำการเปิดดอกเห็ดให้สังเกตดูความชื้นในก้อนเห็ดก่อน เพื่อไม่ให้มีความชื้นมากเกินไป หากพบว่าก้อนเชื้อเห็ดดังกล่าวมีความชื้นหรือมีละอองน้ำอยู่ภายใน ก็ให้เราใส่ปูนขาวหรือไดโลไมท์ลงไปประมาณ ½ ช้อนชา (ครึ่งช้อนชา) ต่อก้อน จากนั้นก็ให้ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพหรือ EM สูตรไล่แมลงหรือป้องกันเชื้อรา ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้ความชื้นในก้อนเห็ดลดลงได้ แถมเส้นใยเห็ดที่อยู่ในก้อนเชื้อ ยังได้รับธาตุอาหารที่ได้จากปูนขาวหรือไดโลไมท์อีกด้วยครับ
ปูนขาวช่วยลดความชื้นในก้อนเชื้อเห็ดได้
ใช้ปูนขาวกำจัดมดในโรงเรือนเพาะเห็ดได้

ปูนขาวหรือไดโลไมท์ นอกจากจะช่วยลดความชื้นในก้อนเห็ดได้แล้ว ยังสามารถกำจัดมดหรือปลวกในโรงเรือนเพาะเห็ดได้อีกด้วย เพียงแค่เราโรยปูนขาวให้ทั่วบริเวณพื้นภายในโรงเรือนเพาะเห็ด ก่อนหรือหลังสร้างโรงเรือนก็ได้ หรือโรยบริเวณที่มีมดภายในโรงเรือน หรือจะโรยไปที่ก้อนเห็ดตรงๆก็ได้ จะทำให้มดพากันอพยพหนีไปเอง แถมยังช่วยปรับค่า PH (ค่าความเป็นกรด-ด่าง) ของดินภายในบริเวณโรงเรือนเพาะเห็ดได้อีกด้วยครับ